ผมจัด Workshop ด้าน User Experience มาพักใหญ่น่าจะย้อนไปตั้งแต่ปี 2006 แล้วก็พบว่าการสอน UX นั้นไม่ตรงไปตรงมา เพราะมันไม่ได้เป็นวิชาที่เน้นเหตุผลแบบเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนสอน Programming และไม่ได้เป็นวิชาที่เน้นใช้ความรู้สึกแบบวิชา ศิลปะ การสอน UX นั้นต้องใช้ทั้งความรู้สึกและเหตุผลไปพร้อมๆ กัน ถ้าจับทางได้ก็เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าจับทางผิดผู้สอนก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน 😓
ผมทดลองเปลี่ยนวิธีการสอน การทำ workshop หรือการลำดับการสอนมาหลายแบบ มีทั้งตอนที่ไม่ค่อยสำเร็จ คนเรียนท้อกันทั้งห้อง หรือตอนที่สำเร็จมากๆ ได้ Feedback เต็ม 10 ทั้งห้อง เคยทดลองสอนทั้งเด็กที่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน และสอนกลุ่มผู้บริหารองค์กร จนเริ่มจับทางได้บ้างว่าแต่ละกลุ่มควรลำดับอย่างไร แต่ก็ยังสรุปออกมาให้ชัดเป็นข้อๆ ไม่ได้ชัด จนมาเรียน TBR (Training from the Back of the Room) มีอยู่ส่วนหนึ่งเค้าสอนเรื่อง Brain Science การทำงานของสมองตอนที่ผู้เรียนได้เรียนจริงๆ
เค้าเปิดประเด็นว่า “การเรียนรู้” จะเกิดขึ้นได้มันมีตัวแปรหลายอย่าง ตั้งแต่ฐานกายของผู้เรียน, สภาพแวดล้อมในการเรียน, เตรียมความรู้สึกในใจผู้เรียน และความรู้สึกต่อสังคมรอบข้างด้วย ซึ่งมันส่งผลต่อ การเรียนรู้ ของผู้เรียน
พอเค้าบอกแบบนี้เราก็เริ่มเชื่อมโยงได้ว่า จริง!! 👍 ในครั้งที่งานสอนตอนที่มันออกมาดี มันอธิบายด้วยปัจจัยพวกนี้ได้เลย
เท่าที่โยงดู พบว่ามีอยู่ 3 ส่วนที่สำคัญ จะลองเอามาเทียบกับตอนผมจัด Workshop ดูนะครับ
1. Emotional and Social Factors
เรื่องนี้พูดถึงฐานใจของผู้เรียน ถ้าเค้ารู้สึกไม่สบายใจก็จะไม่มีกะใจจะเรียนรู้ อันนี้ผมว่าผู้สอนเข้าใจดี แต่หลายครั้งผู้สอนเองกลับเป็นคนสร้างความไม่สบายใจนั้นขึ้นมาครับ เช่น การที่เราเรียกชื่อถามผู้เรียนรายคน สิ่งนี้ทำให้ผู้เรียนหลายคนกังวล และใส่พลังในการคิดมากขึ้น แต่กลับไม่ใช่การคิดเพื่อเข้าใจบทเรียน จะกลับเป็นความคิดว่าทำอย่างไรให้รอดจากความกดดันนี้ ซึ่งเห็นผลออกมาในหลายรูปแบบ เช่นพยายามเอาคำที่เราสอนมาตอบ ไปหาคำตอบจากเพื่อนข้างๆ หรือกังวลมากจนพูดตะกุกตะกัก และถึงแม้สุดท้ายเค้าจะตอบได้ แต่ก็นั่นก็ไม่ได้ทำให้เค้าเกิดการเรียนรู้ครับ
ผู้สอนสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไม่เกิดความกลัวได้ โดยในกรณีนี้เราอาจจะเปิดโอกาสให้นักเรียนปฏิเสธการตอบได้ ส่งคำถามต่อให้เพื่อนได้ หรือขอกลับมาตอบได้เมื่อนึกคำตอบออก เมื่อผู้เรียนไม่กังวลว่าจะต้องตอบให้ได้ ก็จะรู้สึกปลอดภัย ทำให้มีสมาธิกับการทำความเข้าใจได้เต็มที่ ไม่กังวลว่าจะต้องตอบทันที
การสอนกันเองก็เป็นรูปแบบนึง มนุษย์จะพยายามเข้าสังคมอยู่แล้ว ทำให้เรามีความพยายามที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจโดยไม่รู้ตัว ผู้เรียนจะพยายามตกผลึกสิ่งที่เค้ารู้ในหัว พยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่รู้มาก่อน เพื่อใช้ในการอธิบายต่อยอด นั่นทำให้การสอนกันเองนั้นเราได้เรียนรู้มากกว่าการเรียนซะอีก
ความรู้สึกปลอดภัย และความรู้สึกที่พยายามจะทำให้เพื่อนเข้าใจ เป็นพื้นฐาน Brain Science ที่ผู้สอนเอาไปใช้ได้ตลอดครับ
2. Movement & Sensory Engagement
อาจจะไม่เชื่อว่าการลุกเดิน หรือการหายใจเข้าลึกๆ ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย แต่มันได้ผลเสมอเลยครับ การนั่งฟังนานๆ โดยไม่ได้ขยับตัวจะทำให้เลือดไหลเวียนน้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการง่วง และเหนื่อยล้าได้ ในทางตรงกันข้ามการขยับตัวเล็กๆ น้อยๆ เช่นเดินไปจับคู่ถามตอบกับเพื่อน หรือการลุกขึ้นไปแปะ Post it จะช่วยให้ร่างการตื่นตัว สมองได้รับเลือด ช่วยลดความเครียด ความเหนื่อยล้า ช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้ยาวขึ้น
ดังนั้นการสอนครั้งไหนที่มีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ ให้ผู้เรียนได้คิด ได้เดิน ได้ลุกไปคุยกับเพื่อน ในครั้งนั้นมักจะมี Feedback จากผู้เรียนว่า “เค้าไม่รู้สึกว่าเรียนนาน” ในทางตรงข้ามกลับมักมี Feedback ว่า “อยากเรียนเพิ่มขึ้น อยากได้ทำกิจกรรมมากกว่านี้” และผู้เรียนมักบอกว่าการทำกิจกรรม ทำให้เข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น เพราะได้คิดและได้เอาสิ่งที่คิดมาลงมือทำ
ใน Workshop ที่สอนผมจึงพยายามลดเวลาในการเล่าเรื่องลง โดยตั้งกฏกับตัวเองว่าจะไม่พูดต่อเนื่องเกิน 10 นาที ในระหว่างที่สอนต้องมีเรื่องให้ผู้เรียนได้คิด ได้ลงมือทำตลอด
3. Environmental Influence
สภาพแวดล้อมก็เป็นอะไรที่ผู้สอนต้องเก็บเล็กเก็บน้อย เพราะมันส่งผลต่อการเรียนอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเรื่องแสง ผมพบว่าการให้มีแสดงธรรมชาติเข้ามาในห้องด้วย ช่วยให้ผู้เรียนผ่อนคลายได้มากกว่าห้องปิดทึบแล้วมีแค่แสงจากหลอดไฟ หรือการมีพื้นที่ๆ กว้างพอสำหรับทำกิจกรรม จะชวนให้คนลุกขึ้นมาทำกิจกรรมได้ง่ายกว่า หรือห้องที่ไม่มีเสียงรบกวน แต่มีเพลงเบาๆ ในตอนทำกิจกรรม ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีสมาธิ และคึกคักตลอดการเรียนการสอน
การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้เรียนมีฐานกาย ฐานใจที่สมบูรณ์ก็มีส่วนอย่างมาก เช่น การเตรียมอาหารเช้า ทำให้ผู้เรียนไม่หิว การเตรียมปลั๊กไฟสำหรับชาร์ทมือถือไว้หลังห้องทำให้ผู้เรียนวางมือถือไว้ห่างตัว และไม่กังวลว่าแบตจะหมด การอธิบายว่าผู้เรียนสามารถยืนเรียน หรือจัดโต๊ะได้เอง ช่วยเพิ่มอิสระในการการจัดการตัวเอง ทำให้รู้สึกอึดอัดน้อยลง
การจัดห้อง โดยเอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องเรียน ไม่ว่าจะเป็น Poster, แผ่นคำ, หรือ Flipchart ที่วาดไปแล้ว เอามาติดข้างฝา ช่วยให้ผู้เรียนปรับใจให้อยู่กับบริบทของเรื่องนั้นๆ ได้เร็วขึ้น ช่วยให้พร้อมต่อยอดความรู้ได้ทันที
ของเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แอบส่งผลอย่างมาก แถมเป็นเรื่องที่เราสามารถเตรียมได้ก่อนถึงเวลาสอนด้วย จึงเป็นเรื่องที่อยากให้ผู้สอนลองจัดกันดูครับ
ทั้งสามเรื่องที่ดูเหมือนเรื่องพื้นฐานแต่กลับส่งผลต่อห้องเรียนอย่างมากมาย ทำให้เราเห็นว่า
การเตรียมการสอนที่ดี ไม่ใช่เตรียมแค่เรื่องที่จะสอน ต้องหาทางเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการเรียน และต้องเตรียมกิจกรรมให้อร่อยด้วย
ผมมักเปรียบเทียบห้องเรียนกับร้านอาหาร ถ้าเราทำร้านขายข้าวมันไก่ มันไม่ใช่แค่เค้ามากินไก่ กับข้าว แต่องค์ประกอบของร้าน หน้าตาของโต๊ะ การจัดจาน รายละเอียดเล็กๆ อย่างรูปแบบจาน ของที่แขวนหน้าร้าน หรือแม้แต่เก้าอี้ มันส่งผลต่อความอร่อยในการกินด้วย เราต้องทำให้เค้าอิ่มถึงใจ ไม่ใช่แค่อิมท้อง
การสอนก็เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เค้า “ได้ยิน” สิ่งที่เราสอน แต่เราอยากเค้า “เข้าใจ” บทเรียนของเราจริงๆ
เรื่องสุดท้ายที่อยากแถม
ผู้สอนจะกังวลว่าผู้เรียนจะได้ฟังเรื่องที่ราวต่างๆ ไม่ครบ เพราะเรามีเรื่องที่อยากให้เค้าได้ฟังมากกว่าเวลาที่มีเสมอ ผมอยากแชร์ว่า เรื่องต่างๆ ที่เราอยากพูดนั้นส่วนใหญ่ผู้เรียนสามารถไปอ่านเองได้ หรือไปเรียนผ่านทาง Youtube ก็ได้ได้
การที่เค้ามาอยู่กับเราในวันนี้ เป็นเรื่องพิเศษ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เราต้องทำให้เวลานั้นมันคุ้มค่าที่สุด
ให้เราพยายามตัดของที่เค้าเรียนเองได้ออกไป ให้เหลือเฉพาะเรื่องที่เรียนเองได้ยาก
ให้สอนเรื่องที่เป็นความรู้สึก หรือเรื่องสำคัญที่ต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เรื่องที่ผู้เรียนต้องมีประสบการณ์ร่วมไปด้วยกัน ให้เวลากับเรื่องนั้นเยอะๆ ครับ เพราะเรื่องแบบนี้จะทำให้เค้ากลับไปอ่านหนังสือได้เร็วขึ้น ทำให้เวลาไปเจอสถานการณ์เค้าแล้วกลับตัวได้เร็ว สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ง่ายขึ้น
สำหรับคนสอน คงไม่มีโมเม้นไหนที่ฟิน เท่ากับตอนที่คนเรียนพูดว่า “เค้าเข้าใจ สามารถเอาไปใช้ได้จริง” 😍