UX TH 2024 Behind The scenes

Apirak
7 min readApr 4, 2024

งานนี้มีเบื้องหน้าที่ได้เรียนรู้กันอย่างเข้มข้น และมีเบื้องหลังที่ได้เรียนกันเข้มข้นกว่า มีประโยคนึงในหนังสือ Project X เค้าบอกว่า “อะไรก็ตามที่เราทุมพลังเต็มที่ มันจะมีความหมายแน่นอน” ดังนั้น ไม่ว่าจะพบเจอกับอุปสรรคใด ๆ ขอให้เรามองมันเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

งาน UX TH ครั้งนี้เริ่มตั้งแต่คุยกับเพื่อนๆ ว่าปีนี้เราไม่มีเรียม (เพื่อนที่มาช่วยงานตอนปี 2019) ที่ช่วยชวน Speaker ต่างชาติมาละ เราต้องไปหาเอง เราต้องหาคนที่เก่ง รู้จริง และเล่าเรื่องได้ด้วย พอดีกับทาง ODDS| มีส่งคนไปงาน Conference เลยได้จังหวะ ขอไปจีบ Speaker ด้วยเลย 🙇‍♂️

UX Lisbon Conference

ต้องขอบคุณบุคลากร ธรรมดาของ ODDS| โดยเฉพาะพี่อู พี่เต๋า ที่ช่วยกันมากมายในการไปครั่งนั้น ทำให้ได้เรียนรู้เยอะมากๆ ได้เข้าไปคุยชวน Speaker หลายคน บอกเลยว่าวินาทีที่รวบรวมความกล้าเข้าไปชวน Meena กับ Christopher นี่ หายใจเข้าอยู่พักใหญ่ รู้สึกว่าสองคนนี้ยิ่งใหญ่มาก 😖

พอกลับมาก็ได้คุยกับพี่พีต เรื่อง Vision ของปีนี้ (พี่พีตพึ่งกลับมาจากเดินทางไปพักบ้านเพื่อนรอบโลก) ก็ทำให้เราเริ่มตกผลึกว่ามุมมองต่อ Product ของเรามันจำกัดมากๆ โลกช่างกว้างใหญ่ เรามาชวนทุกคนไปมองโลกจากมุมนั้นกันดีกว่า แล้วก็รวมความกล้าอีกทีประกาศชวนคนมาช่วยกันจัด UXTH Conference กัน

ภาพบรรยากาศทีมอาสา

จำได้ว่ามีคนมาเยอะมากๆ 😳 ตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะจัดการอย่างไรดี ที่ผ่านมาก็เป็นแบบลูกทุ่งมากๆ เราก็คิดว่าก็ไปแบบนี้ล่ะ ถ้าจะทำให้เป็นระบบระเบียบ เดี๋ยวจะไม่สนุก แต่ก็ไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงจะพอดี ในตอนนั้นก็ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกัน Support มีพี่นิ้งที่เข้ามาช่วยเรื่องสถานที่ มีพี่นิคอน พี่บอย (ประธาน) ก็แวะมา และมีอีกหลายคนที่เคยจัดงานก่อนหน้านั้นด้วยกัน เราก็อุ่นใจ กล้าเดินไปข้างหน้ามากขึ้น (ในใจก็คิดว่าทุกคนเติบโตไปเป็น Lead กันหมดแล้วจะมีเวลามากันมั๊ยน้าาา) แต่งานออกมาได้ดีมีคน Commit ว่าจะไปด้วยกันหลายคนเลย

บทที่ 2 Podcast & Meetup

ตอนนี้เราตัดสินใจกันว่าเราจะไม่ได้มีแค่ Conference แต่จะมี Podcast ทุกสัปดาห์ และมี Meetup ทุกเดือนด้วย และจุดนี้น่าจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ได้เรียนรู้เลยครับ 😓

Podcast และ Meetup เยอะมาก

เมื่อเราวางแผนแบบนั้นเลยทำให้เรามี Content ดีๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เรียนรู้กันแบบฉ่ำๆ แต่มองกลับมาที่ทีมงานแล้วเหนื่อยกันมากๆ ครับ ต้องเตรียมนัดหมาย Speaker ดูว่าชวนใครมาได้บ้าง แล้วพอต้องทำทุกสัปดาห์มันเลยกลายเป็นภาระทั้งงานด้าน Graphic และ Production ด้วย

พอตอนหลังเราจัดให้มันมี Overhead น้อยลง ลด product ลง งานก็เบาขึ้น แต่ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี มันไม่เหมือนกับตอนปี 2019 ที่เรานัดเจอกันก็คุยเรื่อง Conference อย่างเดียว แล้วเวลาที่เหลือก็เอางานที่ทำมาคุยกัน พี่ได้เห็นกรณีศึกษาของน้องๆ ส่วนน้องก็ได้รับคำแนะนำจากพี่ ทำให้การเจอกันกลายเป็น Session ที่เติมพลังให้กัน แต่ปีนี้กลายเป็นว่าพี่ๆ เข้ามาก็เดินเข้าห้อง Podcast เลย ไม่มีเวลามาเจอน้องๆ ความสนุกและคุณค่าของการมาเจอกันเลยลดลงมาก 😓

แต่ถึงอย่างนั้นปีนี้น้องๆ ก็มีความตั้งใจกันเยอะมาก มี Talk ดีๆ ออกมาเยอะเลยครับ (ไว้จะเอา Live มาตัดเป็น Video อีกที 🙇‍♂️) ต้องขอบคุณน้องหลี่หลี (ที่ตอนนี้ไปเรียนที่มิลาน อิตาลีโน~* แล้ว) น้องใบตอง น้องดิว น้องพีต น้องเจมส์ น้อง Caew น้องแบงค์ น้อง Pun น้องวารัส (ที่มาช่วยตลอด แถมเอาขาตั้งกล้องของ Pruxus Design มาให้ยืมด้วย) น้องเชสที่มาแก้ปัญหาให้หลายครั้งเลย ทีมนี้เหนื่อยจริงๆ

ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้ Overhead มันเยอะขนาดนี้ บอกเลยว่า Speaker ของ Podcast และ Meetup ก็ต้องหาและต้องนัดหมายกันเยอะมาก แถมจำนวนจะมากกว่าของ Conference ซะอีก 🙇‍♂️

บทที่ 3 Conference Speaker

งานนี้เรามี Speaker ทั้ง Online, Offline และ Workshop มากกว่า 30 คน (บนเว็บจะมี 28 แต่เรามี Speaker ที่เติมเข้ามาตอนหลังด้วย) เอาจริงๆ ตอนแรกคิดว่าจะมี Speaker ต่างประเทศซัก 4 คน มีคนไทยซัก 1 คน แค่นี้ก็เต็มวันแล้ว แถมมีกิจกรรมอีกไม่รู้จะเอาลงเวลาไหนแล้ว 😅

ตั้งต้นเราก็มี 3 คนแล้วดังนั้นหามาเพิ่มอีก 2 คนก็พอตามแผน ดังนั้น Process ที่วางไว้ก็เป็นแบบบ้านๆ คุยแบบกันเอง จะมี Overhead นิดหน่อยก็ไม่เป็นไรเน้นสบายๆ แต่กลายเป็นว่า พอเริ่มจัดไปก็เริ่มมี idea มากขึ้น แล้วแต่ละอันก็น่าจะดีกับคนมาฟังทั้งนั้นเลย ถ้าทีมสะดวกก็จัดเลย ด้วยความที่มองแบบง่ายๆ เลยกลายเป็นภาระก้อนมหึมาให้ทีม Speaker ที่ตอนแรกวางไว้แบบบ้านๆ น้องที่เข้ามาช่วยดู ทั้งพี่พีต น้องกะทิ น้องเล็ก เหนื่อยกันสุดๆ ทำเอา Speaker เหนื่อยไปด้วย

ขอบคุณทีม Speaker ที่ช่วยทำให้เค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีจากเรา

มาตอนท้ายๆ หลายคนเริ่มติดงาน มีพี่นิ้งเข้ามาด้วย เราเริ่มรู้ตัวว่าปล่อยไปแบบนี้ไม่ไหวแล้ว 🤯 พี่พีตเลยต้องเข้ามาจัดระเบียบใหม่ ให้ข้อมูลมันอยู่ที่เดียวกัน ทำให้ต้องรบกวน Speaker ทุกคนมาตรวจข้อมูลกันใหม่หมด (ต้องขอโทษด้วยครับ)

ใครไม่ได้ทำไม่รู้เลยว่าการจัดการ Speaker มีเรื่องต้องคิดเยอะมาก

  • ต้องอธิบายแนวคิดของงานให้กับ Speaker แต่ละคน คนละหลายๆ รอบ แล้วเอามาสรุปเป็นเนื้อหาที่จะเล่า ไม่ใช่แค่ส่งให้เค้ากรอกมา
  • เวลาในการเดินทางของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน บางคนก็จ่ายค่าตั๋วเอง บางคนให้เราซื้อให้ ต้องดูว่าใครจะไปรับ บางคนไม่ได้บินมาจากบ้าน แต่ไปแวะอีกทีก่อน บางคนก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะอยู่ตรงไหนตอนวันเดินทาง ต้อง Personalize กันคนต่อคน (แถมบาง Speaker ยังขอเดินทางแบบรักโลกด้วยนะ อันนี้ก็เหนื่อยแต่ก็ดี ❤️)
  • ของกินก็ไม่ง่ายไม่ได้มีแค่มังสวิรัติ แต่มีคนที่แพ้อาหารด้วย แล้วไม่ได้มีแค่มื้อเดียวไง ข้าวเช้า เที่ยง เย็น After Party ด้วย แล้วจะจัดให้ไม่พลาดได้อย่างไร
  • และอีกมากมาย 😓

แถมเสน่ห์ของทีม UX คือความไม่ธรรมดาด้วยนะ เราอยากไปรับ/ส่ง Speaker ทุกคน, อยากมี Personalize Cookie ให้เค้าด้วย, อยากให้ผู้ร่วมงานได้คุยกับเค้า, อยากให้อาสาได้คุยกับ Speaker, อยากพาเค้ามาดูหน้างานก่อน, อยากจัดอุปกรณ์ workshop ให้ตามที่เค้าอยากได้, อยากให้เค้านอนโรงแรมใกล้ๆ, อยากพาเค้าเที่ยว, อยากพามานวดไทย etc. (ขอบคุณพี่นิ้งสำหรับการสร้างสรรค์ประสบการณ์ดีๆ ให้ speaker และทีมงานทุกคนเลย)

บทที่ 4 การร่วมมือกันของ 3 ทีม

ตอนแรกเราวางแผนไว้ว่างานจะจัดในปี 2023 แต่กลายเป็นว่าเราติดต่อประสานงานกันไม่ทัน ทั้งเรื่อง Sponsor เรื่องการเดินทาง Speaker สถานที่ก็ยังไม่ลงตัวซะที และการขายบัตรด้วย เราเลยเลื่อนออกมาเป็นต้นปี 2024 แทน (ตอนนั้นก็เครียดอยู่ แต่พอพี่พีตเตือนว่าเราเลื่อนได้นะ) ก็ทำให้พอนอนหลับได้

ทีนี้พอเลื่อนเวลามันก็ไปกระทบกับตารางงานของ Gang Connector พอดี ก็เลยต้องคุยกันว่าจะเอายังไงดี จะแยกเป็นสองงาน จะเลื่อนเวลาอีก หรือจะ “รวมงานกันไป” แล้วก็มีข่าวดีว่าทีม Gang Connector ตัดสินใจ รวมงาน UXTH เข้ากับ UX Go with the flow 😍 ทีนี้เราเลยได้งานใหญ่ ที่มีทั้ง Online, Offline และ Workshop เลย 🎉

ภาพหลังงานจบ เรามาเครียร์ใจกันต่อ (บอกเลยว่าประทับใจ)

มีการคุยกันและเซ็นสัญญาร่วมงานกัน โดยเป็นความร่วมมือของ 3 ทีม UX Thailand, Gang Connector และ Soldoutt ครับ แต่ก็ไม่ได้มีการแบ่งงานกันชัดเจนคุยกันคร่าวๆ ว่า Soldoutt ทำเรื่องการขายตั๋ว และดูบัญชีหลังบ้านให้ ซึ้งบอกเลยว่าเหมือนง่ายเพราะเค้ามีระบบอยู่แล้ว แต่จริงๆ ยากสัสสสส ต้องโทรตามให้คนจ่ายเงินเป็นรายคน ออกเอกสารมากมาย และเรื่องเงินมันผิดไม่ได้ แถมไม่ได้คลุมแค่ตั๋ว เค้ายังแบกบัญชี Sponsor ด้วย ส่วน Gang Connector จะดูเรื่อง Marketing ซึ่งก็ยากมากจะทำยังให้คนไม่เข้าใจผิด ต้องรับเรืองการยิง Ads ด้วย ไหนจะการหา Media Partner อีก

จุดสำคัญคือเรายังไม่เคยร่วมงานกันแบบจริงจัง เลยยังมีจุดที่เหยียบเท้ากันเยอะ แต่ทุกคนก็มืออาชีพพอที่จะไม่โวยวาย ขอโทษกันไปแล้วเดินหน้าต่อ ดูแลใจของทีมกันไป ขอบอกเลยว่าไม่ง่ายเพราะคนโดยเหยียบเป็นลูกทีมของเราไม่ใช่เราเอง มันไม่ใช่แค่ทำใจของตัวเอง แต่ต้องไปทำงานอารมย์กับลูกทีม และเป็นทีมอาสาด้วยมันจัดการยาก แต่ก็ทำกันผ่านมาได้ 👏 👏 👏

ขอบคุณ เจน เดฟ และ พีตมากๆ ที่ช่วยให้ประคับประคองทีมจนงานครั้งนี้ออกมาได้น่าประทับใจสุดๆ

บทที่ 5 ถึงทีม Graphic

ตอนช่วงแรกของการประชุมทีมอาสา จำได้ว่าน้องๆ ทีม Graphic แสดงผลงานได้เท่มากๆ ต้องขอบคุณพี่นิคอนที่ช่วยพาน้องๆ คิด หน้าตาออกมาสวยงามและดูดีมากๆ เลยครับ ตอนนั้นน้องๆ นำเสนอ Theme งานออกมา 3 แบบให้พวกเราช่วยกันเลือก

ทีม Graphic นำเสนอ Theme ของงาน

ที่พวกเราเห็นงาน Graphic ออกมาแบบนี้ไม่ได้คิดกันน้อยๆ เลยครับ งาน Concept เป็นงานที่ละเอียด ต้องคิดถึงตอนที่มันต้องแปลงร่างเป็นหลายแบบ ทั้งเสื้อ ทั้งป้าย ทั้งบนสื่อ Social ด้วย ดังนั้นที่งานออกมาดีเป็นเพราะเค้าทำการบ้านเยอะครับ ผมเห็น mouse ใน Figma นี่ขยับกันตลอดถึงตีสอง ตีสาม เป็นประจำ พี่ๆ ก็เข้ามาดูกันบ่อยๆ ทำให้น้องๆ ได้เห็นวิธีทำงานกันด้วย

ไฟล์ Figma ขนาดใหญ่มากกกก

ถ้าดูในรูปจะเห็นว่าไม่ใช่งานปริมาณน้อยๆ เลย ต้องขอบคุณน้องใบตอง น้องมาย น้อง Nuch น้องฟ้าน้องกะทิ และอีกหลายคนมากๆ ผมเชื่อว่ามีหลายอย่างที่ใส่ลงไปแล้วไม่ได้ใช้ หลายอยากทำมาก็ทิ้งไป แต่เชื่อว่าเราได้เรียนรู้อะไรในนี้เยอะมากๆ ครับ ขอบคุณกันไม่หมดเลย

หลายอย่างก็ทำกันวินาทีสุดท้ายเลย อย่างเสื้อ LIMITLESS นี่คิดกัน Productive มากๆ ใช้ความรู้สึกทำงานกันเลย ต้องขอบคุณน้องเจม น้องใบตอง ที่ช่วยกันเสกขึ้นมา ขอบคุณเดฟที่หยิบคำนี้ขึ้นมา และบอกย้ำว่าเราไม่มีเสื้อไม่ได้ 💪 เราเลยมีเสื้อสวยๆ ให้ทีม Staff กัน (พี่เดฟ Sponsor เสื้อให้ด้วย)

บทที่ 6 เว็บไซต์

เว็บก็เป็นอะไรที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะมีปัญหาเหมือนกัน โดยเราช่วยกันออกแบบ Story board ของเว็บ เขียนว่าต้องมีอะไรบ้าง และสร้างโครงของเนื้อหาขึ้นมาเรียบร้อย ส่งต่อให้ทีม Web Site ซึ่งตอนนั้นอาสาโดยน้องกะทิ (ที่ปลีกตัวมาจากทีม Speaker เข้ามาช่วยทำ web) ทีมนี้มีคนเขามาช่วยทำเป็น 10 คนเลย 😅 ทีนี้พอมีคนเยอะของที่ควรจะไม่มีปัญหาก็เริ่มมีปัญหาขึ้นมา

เราสร้างเว็บด้วย Framer เพราะได้ Web ในขั้นตอนเดียว ทั้งออกแบบและพัฒนา

การบริหารคนจำนวนมากก็เป็นอีกทักษะสำคัญ พอเราทำไปได้ซักพักกลายเป็นว่าทีมจำนวนมากหายไป แล้วเว็บก็ไม่ออกซะที 😅

แต่ย้อนกลับมามองจริงๆ เราจะรู้เลยว่าการแจกงานมันไม่ใช่แค่แจกงาน มันต้องถ่ายทอดความเข้าใจ ส่งต่อความรู้สึกว่าตัดสินใจได้ และที่สำคัญคือทำให้คนที่มาร่วมงานรู้ว่า Experience ที่ต้องการสร้างเป็นอย่างไร (ไม่ใช่แค่หน้าตา) พอรู้ตัวก็เลย 🙅‍♂️ “เริ่มแจกงาน” ป่าว!! 🙆 “เอางานกลับมาทำเอง” 😣

เราเริ่มเอางานที่น้องกะทิวางไว้แล้ว มาสานต่อทั้งการเก็บงานเล็กๆ น้อยๆ งาน Responsive งาน Database และงานข้อมูล Speaker ดีนะที่มีน้องโจอี้ อาสาเข้ามาช่วยเก็บงานให้จนดึกดื่น ทำให้ออกมาเรียบร้อยขึ้นเยอะ ถือว่าเป็นงานเผาที่ออกมาพอดูได้เลยทีเดียว

หลังจากนั้นเลยกลายเป็นว่าเอาตัวเว็บมาถืออยู่คนเดียว กลายเป็นคอขวดของระบบ ไม่มีใครเข้ามาช่วย Update ทั้งๆ ที่ถ้าเข้ามาจะทำให้เว็บสมบูรณ์กว่านี้มาก หลายอย่างที่ควรจะเพิ่มบนเว็บก็ไม่ได้เพิ่ม ไม่ได้แจกงาน ครั้งหน้าจะไม่ประมาทกับเว็บอีกแล้ว

บทที่ 7 Master ทุกบ้าน

เรื่องเอกสารเป็นบทเรียนสำคัญมากๆ ของพวกเรา ทั้งๆ ที่พวกเรารู้จักเทคโนโลยีดีๆ มากมายที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างทีม แถมเข้าใจเป็นอย่างดีด้วยว่าการสื่อสารจะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อผู้รับสารอ่านได้สะดวก แต่เราก็ยังพลาดอยู่ดี 😓

พวกเราเริ่มจากตัดสินใจพยายามใช้ Discord ในการสื่อสารกัน เพราะสามารถจัดการคุยเป็นหลายห้องได้ คุยเป็น Thread ได้ ส่งข้อความส่วนตัวได้ด้วย เปิดห้องทำงานได้ทันที โดยเราบอกกันว่าบทสนทนาส่วนใหญ่จะอยู่บน Discord แค่จะมีแจ้งบางส่วนกลับมาบน Line เพื่อคนที่ไม่ค่อยได้ตาม Discord ได้อ่านกัน

แต่กลายเป็นว่าเพื่อนกลุ่มใหญ่ไม่ได้ใช้ Discord เค้ามีภาระที่ต้องเปิด MS Team หรือ Slack ของบริษัทอยู่แล้ว ทำให้ไม่ค่อยได้เข้าใช้ สุดท้ายช่องทางที่ได้รับการตอบ Reply เลยกลายเป็นช่องทาง Line 😭 แล้วก็เป็นไปตามคาดคือมีห้องเกิดขึ้นมากมาย และพวกเราก็ไม่รู้ว่าถ้า Post ลงไปที่ห้องไหนแล้วทุกคนจะรับรู้

ทางแก้วิธีแรกก็คือหันไปสร้าง Single Source of Truth เอาไว้ซักที่นึงซึ่งเราเลือก Notion พวกเรากะว่าถ้าเขียนอะไรไว้ที่นั่นก็จะทำให้เวลาต้องการหาความจริง ก็จะไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งมันดูดีมากๆ เรามีการจัดการ Notion ได้ดี แถม Notion ก็เทพมาก ทำได้ทุกอย่างที่ต้องการ (ขอบคุณน้องหลี่หลีที่ทำให้ดู) ทีนี้พอใช้ไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นว่าเรา Over Engineer ตัว Notion มากไป คนใช้ไม่เป็นซะงั้น 😭 แล้วทุกคนก็ไม่ค่อยได้มาเปิดดูมัน

แล้วแต่ละบ้านก็เริ่มมี Google Sheet เป็นของตัวเองเพราะเวลาจะทำอะไรที่ซับซ้อนมันง่ายกว่า โดยพวกเราเริ่มต้นที่หนึ่งไฟล์ แล้วมันก็ไม่พอสำหรับบางทีมที่ต้องการจัดการแบบของตัวเอง เค้าก็จะเปิดอีกไฟล์ แล้วก็อีกไฟล์ สุดท้ายเราก็หาไม่เจออยู่ดีว่าความจริงอยู่ที่ไหน

มันเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ เราก็ใช้ทุกช่องทางเลย Discord, Notion, Google Sheet, Line 🤯

ไฟล์ [Master ทุกบ้าน] UX Conference 2024 และด้านซ้ายคือไฟล์มามายของแต่ละทีม

เมื่อสถานการณ์บีบให้ต้องมีที่ซักที่นึงที่เชื่อถือได้ Google Sheet “Master ทุกบ้าน” จึงเกิดขึ้นมาครับ 👼 อยากบอกว่าก่อนหน้านี้มันเคยมีไฟล์ชื่อ “Master” ขึ้นมาแล้วนะ แต่มันไม่ศักดิ์สิทธิ์ พี่นิ้งเลยสวมวิญญาน UX Writer ขอแก้เป็น “Master ทุกบ้าน” พอเป็นชื่อนี้ก็ทำให้เข้าใจ (เข้าไปอยู่ในใจ) ได้ง่ายขึ้นมากๆๆๆๆ

ผมเชื่อว่ามันยังดีได้อีกมาก ถ้าเราบริหารจัดการ Notion ได้ดีกว่านี้ หรือเราให้ Core Team อยู่กับเอกสารอันใดอันหนึ่งจนอยู่ตัวก่อน ค่อยเอาทีมเข้ามาก็จะทำให้ทีมเข้าใจว่าจะสื่อสารกันอย่างไร ได้อย่างเป็นระบบ

ต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันลำบาก ช่วยกันเรียนรู้นะครับ เราก็ค่อยๆ ปรับแก้กันไป 🙇‍♂️

บทที่ 8 วันงาน Online Conference

วันงาน Online สนุกมากๆ ครับ ดูเป็นการประสานงานที่ลงตัว มีการทำการบ้านมาเยอะมาก รู้สึกเหมือนกำลังทำ UI อยู่ มีการวางแผนล่วงหน้าว่าทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าใจผิด เลยลองเอาประสบการณ์จากงานเดิมมาปรับแก้กัน พอเริ่มคิดก็รู้เลยว่าถ้าเราจัดตรงนี้พลาดไป ประสบการณ์ในการใช้งาน AirMeet จะต้องงง แน่ๆ

หน้าจอ AirMeet แบบต่างๆ ที่เราเอามาศึกษา และทดลอง

การจัดหน้าจอต้องคิดถึง Persona หลากหลายมาก ทั้งคนที่มาฟังต้องเข้ามาแล้วไม่หลง Sponser ที่มาเปิดบูตต้องทำให้มี Logo ครบ เข้าถึงบูตได้ง่าย (น้องซิ้มถึงขนาดจัด Brief Sponsor ด้วยเพื่อให้เค้าเข้ามาเตรียมของไว้ก่อน) Speaker ที่มาพูดก็ต้องเข้าให้ถูกเวลา มีห้องสำหรับให้ Speaker Standby ไว้ก่อน แล้วคอยนับถอยหลังให้ อันนี้เล่าคร่าวๆ จริงๆ ทีมวางไว้ละเอียดมากเลย 😅

แล้ววันงานก็มาถึงครับ พวกเราตื่นเต้นกันมาก คุณทัน และคุณตูนบริษัท เรียนวิธีคิด ผ่านวิธีโค้ดฯ พี่ๆ เปิดบ้านให้เราใช้เป็นฐานทัพในการจัดงานวันแรก เป็นการตัดสินใจที่ดีมากๆ ที่เอาทีมงานมานั่งด้วยกัน

พวกเราแยกทีมงานแยกพิธีกรให้ขึ้นไปชั้น 2 ส่วนทีมประสานงานก็อยู่ชั้น 1 ทีมงานที่เหลือ Online มาทำงานจากทางบ้าน รวมถึง Jassie ที่มาเป็นพิธีกรบาง Session ด้วย

ความสนุกของวันนี้คือ “ทำอย่างไรให้ผู้ร่วมงานเดาถูก” คนส่วนมากจะพึ่งเคยใช้ Airmeet เป็นครั้งแรก ดังนั้นเค้าต้องเดาการใช้งานผิดแน่ๆ เช่น

  • เดาผิดว่าจะมี Link ไปห้องหลัก (เพราะจริงๆ มันไม่มี) ดังนั้นเลยเลยใส่ Link ห้องหลักหลอกเอาไว้ พอกดแล้วมันจะไปเปิด Schedule ทำให้คนหาห้องเจอ
  • เดาผิดว่าจะต้องมี Link เข้างาน แล้วก็จะหา Link เข้างานไม่เจอ เราเลยส่ง e-mail ไปล่วงหน้าพร้อมแนบ authentication ไปให้เลย ไม่ต้องมานั่งจำ User, Pass
  • เดาผิดว่า Speaker จะเลิกตรงเวลา ซึ้งไม่จริง Speaker เลิกไม่ตรงเวลาแน่นอน เราเลยมีคนคอย update schedule บน Airmeet อยู่ตลอด
  • และอีกหลายๆๆๆๆ อย่าง ที่เราดักเอาไว้

ทำให้คนส่วนมากไม่ค่อยเจอปัญหา 🎉 ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะทีมทำงานหลังบ้านกันหนักมาก ทีม Soldout ตรวจรายชื่อกันคนต่อคน ทีม Gang Connecter เข้าไป Double Check ระบบกันหลายรอบ

ถ้าเราเจอระบบไหนที่รู้สึกง่าย บอกได้เลยว่าเพราะทีมของระบบนั้น
นั้นแก้ปัญหาเรื่องยากให้เราแล้ว

วันที่สองก็สนุกครับ วันนี้เรามี Side Event ที่ Skooldio เราเลยขอใช้ที่นี้เป็นฐานทัพซะเลย ครั้งนี้เราก็แยกเป็น 2 Station เหมือนเดิมครับ ที่สนุกมากขึ้นคือวันนี้มีพิธีกรหลายคนเลย 🥰 แปะมือกันมันมาก (ขอบคุณแจน คุณธัญ และ คุณทศพล พอมีคนมาสลับแล้วงานง่ายขึ้นมาก)

Setup วันทีสอง

หน้าที่หลักของพิธีกรคือต้องขาย Speaker ได้ และจับจุดสำคัญที่เค้าเล่าให้ได้ หามุมมาชวนผู้ฟังให้คิดต่อ และพยายามปูไปยังวัน Offline ด้วยเลย ที่เห็น Post it บนโต๊ะคือฟังไปจดไป แถมมีทายกันด้วยว่า Speaker จะพูดอะไรบ้าง ทำให้เก็บข้อมูลได้สนุกมากเลย 😊

Side Event

งานจบคนไม่จบ ตอนเย็นเรามา After Party ของ Skooldio กันต่อ มีการเล่าถึงเนื้อหาบางส่วนที่น่าจะหยิบขึ้นมาคิดต่อ แต่พอคุยกันไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นเล่าเรื่องความยากของงานกัน ทั้งด้านเทคนิค และด้านคน กลายเป็น UX Clinic ไปเลย 😅

จบสองวันแรกด้วยความสนุกสนาน ดูได้จากคนฟังที่ถามกันรัวๆ แถมห้องนั่งเล่นก็เต็มจนล้น Feedback จาก Speaker ก็ดี ทุกคนมีความสุข ต้องขอบคุณทีมงานทุกคนมากๆ เลย 🙏 ❤️

บทที่ 9 วันงาน Offline Conference & Workshop

เรามีเวลาเตรียมงาน Offline กันอีก 5 วัน ช่วงนี้ต้องเร่งกันสุดๆ Speaker ก็กำลังบินมา ตั๋วก็ต้องขายเพิ่มเพื่อให้ cover ต้นทุน งาน Print ต่างๆ ก็ต้องทำมันตอนนี้ละ แถมพวกโฟม สายห้อยคอ ป้ายชื่อ ร้านน้ำ ร้านไอติม กิจกรรมนอกห้อง และอีกมากมาย แต่ทีมงานต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ และความยากที่สุดคือทำยังไงให้เค้ารู้ว่าต้องช่วยอะไร

งานนี้เรามีแบ่งทีมกันแล้ว แต่ละทีมก็มีงานส่วนของตัวเอง แต่ก็มีหลายส่วนที่คาบเกี่ยวกัน เช่น

  • ทีม After Party ต้องต้องคุยกับทีม Speaker ว่าแต่ละคนจะอยู่ตรงไหน กินอะไรได้บ้าง แพ้อะไรบ้าง
  • ทีม Speaker ต้องคุยกับทีม Operation ว่าแต่ละ Session เค้าต้องเข้าตอนกี่โมงมีเวลาถามตอบแค่ไหน
  • ทีม Operation ต้องคุยกับทีมตั๋วเพื่อจัดของให้พอดีกับคน เยอะเกินไปก็เปลือง น้อยเกินไปก็จะโดนด่าได้
  • ที่ตั๋วต้องคุยกับทีม Sponsor ไม่งั้นเราจะขายเกิดจำนวนได้ เพราะเรามีสัญญาว่าจะให้ตั๋ว Sponsor ด้วย ต้องรู้ว่าเค้าจะพามากี่คน

ไฟล์ Master ทุกบ้าน เลยเข้ามาช่วยตรงนี้มากๆ ทุกทีมต้องพยายามเข้าไป Update อยู่ตลอดไม่งั้นทีมอื่นจะทำงานไม่ได้ (ขอบคุณทุกคนที่เป็นภาระเข้ามา Update นะครับ เข้าใจว่าทุกทีมมีไฟล์เป็นของตัวเอง ที่จัดในระบบของตัวเอง พอต้อง Update สองที่ก็จะเหนื่อยหน่อย)

จุดสำคัญที่สุดที่เรานับถือทีมนี้มากๆ คือทุกคนเป็น “อาสา” ดังนั้นเค้ามีงานที่ต้องทำให้เสร็จของเค้าเองด้วย หลายคนก็งานวิกฤตเอาช่วงนี้พอดี แต่ก็ยังจัดเวลามาได้ ต้องขอบคุณจริงๆ 😭

งานนี้ต้องขอบคุณทีม In2it ที่เข้ามาช่วยด้าน Operation มากๆๆๆๆ ทำให้ทีมเราทำงานง่ายขึ้นเยอะ ลดความเสี่ยงได้มาก พี่เค้าถึงขนาดวัดขนาดพื้นที่กันทุกจุด บรรไดแต่ละขั้นก็ต้องวัดด้วย ทำให้เราได้เรียนรู้ด้วยว่ามืออาชีพเค้าทำงานกันแบบนี้น้าาา

ซ้อมทีมพิธีกรให้ทำแทนกันได้, ทีมล่ามจัดเต็มแทบจะลงไป Present แทน, ทีมเสื้อสร้างความประทับใจให้ทุกคน

นิคอนและกะทิ เข้ามาเป็นพิธีกรกันวินาทีสุดท้ายเพื่อให้การแบ่งสองเวทีสมบูรณ์ขึ้น เลยต้องซ้อมกันให้เข้มข้น เพื่อเวลามีปัญหาจะได้ทำงานแทนกันได้เลย (เราเดิมพันเรื่องแบ่งสองห้องไว้เยอะ 😓 นอนไม่หลับกันเลย)

ทีม Simultaneous Interpretation (ล่ามฉับพลัน) ก็เป็นอีกทีมที่เราภูมิใจมากๆๆๆ เค้ามาแปลให้เราตั้งแต่ปี 2019 ตอนนั้นประทับใจคุณอีฟตั้งแต่ก่อนงานแล้ว พี่เค้าทำการบ้านเยอะมาก คุยความเร็วในการพูดกับ Speaker ด้วย ดู video ย้อนหลังด้วย ซ้อมแปลด้วย ที่เราเห็นเหมือนเค้าทำได้ง่าย จริงๆ เป็นเพราะเค้าเตรียมตัวมาดี พี่ที่คุณอีฟพามาด้วยก็เทพมาก อยากขอบคุณดังๆ

ทีมพี่ชาญจาก Opsian ก็เข้ามาเสริมเรื่องกิจกรรมได้มากมายเลยครับ เอาจริงๆ ตอนที่เราคิดเรื่องกิจกรรมนี่ก็ตันๆ อยู่เหมือนกัน ใครจะคิดว่าให้เอาทำนายดวงมาใช้ การค่อยๆ ดูว่าเราเก่งแค่ไหน ไล่ไปจนอะไรเป็นสิ่งที่เรากังวล แล้วก็เขียนมันออกมา ตอนแรกจะมีเจาะลูกโป่ง เผากงเต๊กกันเลย แต่กลัวสถานที่ว่าเอา 🤣 ขอบคุณทีม Opsian มากๆ ครับ

ขอแปะขอบคุณทุกคนไว้ตรงนี้ก่อนเลยครับ

เบื้องหลังวันงานยังเล่าได้อีกเยอะ เพราะมีอีกหลายชีวิตที่ช่วยกันใส่รายละเอียดลงไป งานวัน Workshop ก็เตรียมกันเข้มข้นเหมือนกัน ไว้ค่อยมาเติมอีกทีครับ 🙇‍♂️

บทที่ 10 After Party

ภาระกิจจัดให้ทีมอาสาและ Speaker ได้มีโอกาสคุยกันก็เป็นเรื่องนึงที่ตั้งใจเอาไว้ ทำอย่างไรให้เราได้ขอบคุณทุกคน ทำอย่างไรให้เค้าได้คุยกัน

ปีนี้ยังมีปัญหาว่าเรายังคุยกับเค้าน้อยมาก อยากให้คุยมากกว่านี้ คุยกับแจนและพีต ละว่าปีหน้า เดี๋ยวต้องมี Mission ให้อาสาทำ เพื่อให้มีข้ออ้างไปคุยกับ Speaker มากขึ้น เรายังเติบโตได้อีกมากๆ

และอีกภาระกิจนึงคือการพา Speaker และทีมอาสาไปให้สุด ให้ได้ประสบการณ์ดีๆ ที่เมืองไทย โดยพี่นิ้งและทีม Speaker จัดกันตั้งแต่ขับรถไปรับเค้าที่สนามบิน เอาคุ๊กกี้ที่มีชื่อ Speaker และ Logo งานไปให้ พามาส่งโรงแรม เลี้ยงอาหารต้อนรับ ให้ Sponsor ได้คุยด้วย

จองรถตู้พาไปลงเรือซึ้งผมก็ไม่คิดว่าการลงเรือมันจะสุดเหวี่ยงได้ขนาดนี้ เฮฮากันสุดๆ ไม่แน่ใจเลยว่าเค้าจะจำเมืองไทยแบบไหน แต่น่าจะจำได้แน่ๆ ว่า Party เมืองไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก 🤣

ที่เสียใจที่สุดคือ ซิ้มป่วย 😭 เค้าเป็นหัวแรงสำคัญของงานแต่พอถึงเวลาที่จะขอบคุณเค้าก็ป่วยซะก่อน (ไว้วันที่ 4 ขอแก้ตัวใหม่นะ)

บทที่ 11 Feedback

การตอบรับที่สำคัญที่สุดคงมาจากสีหน้าของคนในงาน เสียงหัวเราะที่เกิดขึ้น และจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละฐาน ผมพบว่าผู้ร่วมงานดูสนุกกับงาน คนที่อยู่ในห้องก็ตั้งใจฟังกันมากๆ คนที่ออกมาด้านนอกก็คุยกันเฮฮา ผมว่านี่เป็น Feedback ที่บอกทีมงานทุกคนว่าว่างานของเราสำเร็จแล้ว 🥳

กิจกรรมที่คนชอบคือกิจกรรมงานประดิษฐ์

มาพูดถึงส่วนที่เราจะทำให้งานหน้าดีขึ้นบ้าง

  1. คนบ่นเรื่องที่นั่งกันเยอะ: อันนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ครั้งหน้าต้องคิดว่าคนที่มาเค้านั่งฟังทั้งวัน ต้องเอาแบบนั่งสบายหน่อย
  2. อยากได้หัวข้อยากๆ: ต่อไปอาจจะต้องแบ่งเส้นทางการเรียนรู้ให้ชัดขึ้น แยกเป็นส่วนของ Lead, Senior, Junior ไว้เลย หรือแยก Design, Dev, Business ให้ชัดๆ
  3. ไม่แน่ใจว่าฟังหัวข้อไหนดี: ครั้งหน้าอาจจะให้ Speaker มาขายของก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร แล้วคนฟังจะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น (รวมถึงตัดสินใจซื้อด้วย)
  4. Sustainability, Accessibility: สัญญาว่าครั้งหน้าจะคิดเรื่องนี้มาก

จริงๆ ยังมีอะไรให้แก้อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของ Process และ Financial ที่ดีกว่านี้ได้อีกครับ

ยังไงก็ขอขอบคุณอาสาทุกๆ คนอีกครั้งที่มาช่วยกันคนละไม่ละมือ ทำให้งานนี้ค่อยๆ คืบหน้าไปเรื่อยๆ ผมอยากเอา idea ของทุกคนมาใส่ให้มากกว่านี้อีก ก็ขอปรับให้ดีขึ้นในครั้งถัดๆ ไปครับ

ครั้งนี้ผมได้รับพลังจากทุกคนมากๆ วันงานก็ดีดน่าดู 🤣 หวังว่าทุกคนจะได้รับพลัง ได้เรียนรู้ และได้ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองไปพร้อมๆ กันนะครับ 🙏

--

--

Apirak

I am a big believer that great UX comes from all team members, not one. #UX Evangelist at ODDS #Co-founder of UX Academy #Certified Sprint Master.