เมื่อคนสอน “พูด” น้อยลง คนเรียนจะได้ “เรียน” มากขึ้น

Apirak
2 min readAug 26, 2024

--

Workshop TBR (Training from the Back of the Room) เพิ่งจบไปครับ 🎉 แม้ว่าผมจะเคยสอน UX, UI มาเยอะ แต่การสอนครั้งนี้สร้างความกดดันอย่างมาก เพราะคนเรียนมีทั้ง Facilitator มืออาชีพ และ วิทยากรมืออาชีพ เค้าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนด้วย แถม เรากำลังสอนเรื่องเทคนิคการสอนให้เค้า 😅

สิ่งที่เรานำเสนอไม่ใช่เทคนิคการพูดให้น่าฟังหรือวิธีการสอนให้เข้าใจง่าย แต่เป็นแนวคิดที่ว่า “ทำอย่างไรให้คนได้เรียนเยอะๆ โดยที่เราสอนน้อยๆ” เรามีเวลาในการสอนจำกัด เราต้องให้เค้าได้รู้ให้มากที่สุด

ผมสรุปออกมาเป็น 3 ข้อ ให้จำง่ายๆ ครับ เมื่อไหรที่เราให้คนเรียนได้ทำสามอย่างนี้ เค้าจะได้เรียนได้มากขึ้น โดยที่เราจะสอนน้อยลง (แต่เตรียมมากขึ้น 😅)

  1. ให้คนเรียนได้ “เรียนเอง” 🧠
  2. ให้คนเรียนได้ “จดเอง” ✍️
  3. ให้คนเรียนได้ “สอนเอง” 🗣️

แล้วแบบนี้เค้าจะได้เรียนรู้จากเราได้อย่างไร เดี๋ยวเรามาลองแยกอธิบายเป็นข้อๆ ดูนะครับ

1. ให้เรียนเอง: เมื่อห้องเรียนกลายเป็นเกมส์ 🎮

แทนที่จะเป็นผู้บรรยายหน้าห้อง เราสามารถสอนโดยกำหนดโจทย์ให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น ไปลอง Google หรือถาม ChatGTP ดู หรือแม้แต่ให้คนเรียนออกไปตามหาจากแผ่นความรู้ที่แปะไว้รอบห้อง ก็ได้

นึกภาพเกมส์ Escape Room ที่ผู้เรียนต้องใช้เงื่อนงำที่มีอยู่รอบห้อง เพื่อผ่านภาระกิจไปให้ได้ ภาพที่ผนังเต็มไปด้วย Post it, แผ่นป้ายความรู้แปะรอบห้อง, ผู้สอนยืนอยู่หน้าห้องพร้อมรอยยิ้มปริศนา 😏 มันจะช่วยให้การเรียนท้าทายได้มากขึ้นมากๆ

ยิ่งถ้าลองให้แต่ละกลุ่มได้สรุปคำตอบสุดท้าย มันจะเพิ่มการถกเถียงระหว่างผู้เรียน สร้างเป็นคำตอบที่ตอบได้หลายแบบ ช่วยผู้เรียนก็จะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายไปด้วย

การใช้ Post-it และแผ่นป้ายความรู้ในห้องเรียนแบบ TBR

วิธีนี้นอกจากจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความเร็วของตัวเอง แล้วมันยังสนุกและได้ท้าทายสมองมากกว่าด้วย ช่วยให้คนเรียนได้ทบทวนสิ่งที่เรียนหลายรอบ ถึงแม้ว่าบางครั้งสิ่งที่หามา หรือสิ่งที่อ่านอาจจะไม่สามารถเอามาตอบได้ตรงๆ เหมือนเรียนคำสอนของผู้สอน แต่มันก็ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้บริบทรอบข้างของคำตอบนั้นๆ ทำให้ได้เห็นทั้งภาพใหญ่มากขึ้น ช่วยให้การออกไปศึกษาด้วยตนเองต่อไป ง่ายขึ้นมาก

จากรูปข้างต้น ในภาพรูปแรกเป็นตัวอย่างที่เราให้ผู้เรียนเอาคำตอบไปติดบนผนัง แยกไปตามหมวดต่างๆ วิธีนี้สนุกครับ ลองนึกดูว่าถ้าเราสอน zoology เราอาจจะให้ผู้เรียนเขียนชื่อสัตว์ออกมาให้มากที่สุด แล้วลองเอาไปแปะไว้บนกระดาษให้ตรงกับไฟลั่มของสัตว์นั้นๆ ให้คนเรียนสามารถเปิดหนังสืออ่านได้ หรือค้นผ่าน internet ก็ได้ เพื่อให้รู้ว่าสัตว์แต่ละชนิดทำไมถึงจัดลงไฟลั่มนั้นๆ ผมเชื่อว่าแบบนั้นนักเรียนจะจดจำและเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้นมากๆ

แน่นอนว่าอาจมีเสียบ่นบ้าง “อาจารย์คะ/ครับ ทำไม่ไม่สอนเองละคะ/ครับ” แต่เราก็สามารถตอบไปด้วยความจริงใจว่า “เพราะเราอยากให้ผู้เรียนเก่งกว่าผู้สอนไง” 😊

แต่เราต้องไม่ลืมว่าการ “ให้เรียนเอง” ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งนักเรียนไว้เฉยๆ แต่เราต้องเตรียมตัวให้มากขึ้น เราต้องออกแบบกิจกรรม เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น และพร้อมที่จะเป็น “โค้ช” มากกว่าเป็นผู้บรรยาย

เอาจริงๆ นะ ผมว่าพอนักเรียนได้ทำกิจกรรมแบบนี้ พวกเค้าจะจำบทเรียนได้นานกว่า เข้าใจลึกซึ้งกว่า และที่สำคัญคือ จะรักบทเรียนของเรามากกว่าด้วย

2. ให้จดเอง: ใช้การจดเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน 📝

การให้ผู้เรียนเขียนชื่อหัวข้อไปพร้อมกับการสอนของเรา ช่วยให้ผู้เรียนติดตามบทเรียนได้ง่ายขึ้น ลองนึกดูนะครับเวลาที่ผู้เรียนต้องเขียนข้อความออกมา มันทำให้เค้าต้องคิดว่าจะต้องเขียนอะไร จะเขียนให้ถูกต้องเขียนยังไง หรือถ้าเค้าเหม่ออยู่ เค้าจะได้หันไปถามเพื่อนว่าผู้สอนให้เขียนอะไร ทำให้ผู้เรียนรู้ว่าตอนนี้ไปถึงข้อไหนแล้ว แถมพอเห็นรายการที่ตัวเองจด ก็ทำให้เข้าใจโครงสร้างของบทเรียนได้มากขึ้นด้วย

ในรูปข้างบน เราให้ผู้เรียนเขียนบนกระดาษสองแผ่นโดยโจทย์ที่ต้องเขียนในกระดาษแต่ละใบไม่เหมือนกัน กระดาษใบหนึ่งให้เขียนชื่อหัวข้อพร้อมวาดรูปประกอบ อีกใบให้เขียนชื่อเครื่องมือที่จะใช้ในหัวข้อนั้นๆ วิธีนี้ช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิจดจ่อกับบทเรียนได้ดีขึ้น แถมยังช่วยทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อเพราะนั่งฟังเฉยๆ อีกด้วย

กิจกรรมที่ทำรวมกับการจดยังมีอีกเยอะเลยครับ ผมลองยกมาซัก 4 ตัวอย่างนะครับ

  1. เติมคำในช่องว่าง: ผู้สอนเตรียมเอกสารเอาไว้ โดยเว้นช่องว่างเป็น key word สำคัญๆ หรือเป็นคำอธิบาย key word ก็ได้ แล้วในระหว่างที่สอนก็ให้ผู้เรียน คิดคำตอบลงไป หรือให้คุยกันเพื่อหาคำตอบก็สนุกดีครับ
  2. ฉันรู้-ฉันอยากรู้-ฉันได้เรียนรู้ (KWL): ให้นักเรียนได้เขียนสิ่งที่รู้อยู่แล้ว และสิ่งที่อยากรู้ ก่อนที่จะเริ่มบทเรียน และได้เขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้หลังจากเรียนจบ
  3. TLDR (Too Long; Didn’t Read): ลองให้นักเรียนได้เขียนสรุปใจความสำคัญเป็นประโยคสั้นๆ ทุกครั้งที่จบหนึ่งหัวข้อ แล้วตอนจบเราลองให้นักเรียนเอาทุกหัวข้อมาสรุปเป็นประโยคหนึ่งประโยคอีกที
  4. ทำ Concept Mapping: อันนี้คล้ายการทำ Mindmap ครับ คือให้เขียนหัวข้อหลักที่เรียนไว้ตรงกลาง แล้วระหว่างที่เรียนก็ให้แตกหัวข้อย่อยออกไปจากตัวหลัก ถ้าตอนจบให้คนเรียนเอา Map ที่แต่ละคนเขียนสร้างเป็นของกลุ่มก็ยิ่งช่วยเพิ่มการถกเถียงได้อีกครับ

การ “ให้จดเอง” ไม่ใช่เพียงแค่การบันทึกข้อมูล แต่เป็นการปลดล๊อกพลังการเรียนรู้ที่อยู่ในตัวผู้เรียน เมื่อปากกาแตะกระดาษ สมองก็เริ่มทำงาน ความคิดเริ่มก่อตัว และการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น

ผู้สอนสามารถใช้เทคนิคที่หลากหลายเพื่อเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นห้องที่น่าเบื่อ ที่ผู้เรียนจะได้รับความรู้ข้างเดียว แต่ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างความเข้าใจได้ด้วยตนเอง พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ช่วยให้การเรียนรู้ติดตัวผู้เรียนไปนานขึ้น 💪

อยากให้ผู้สอนได้ทดลองดูครับ แล้วเราจะพบว่าการ “ให้จดเอง” ไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีการเรียนของนักเรียน แต่ยังเปลี่ยนวิธีคิดของผู้สอนไปด้วย

3. ให้สอนเอง: เมื่อนักเรียนกลายเป็นครู 👨‍🏫👩‍🏫

ลองนึกภาพเมื่อผู้เรียนสอนกันเอง พวกเขาจะได้ทบทวนบทเรียนเพื่อเอามาสอน และได้สอบถามกันเองด้วย ซึ่งการถามก็มักจะมีความเป็นกันเอง และเข้าใจได้ง่าย ซึ่งบ่อยครั้งง่ายกว่าการถามผู้สอนโดยตรงซะอีก เทคนิคนี้ใน TBR เราจะเรียกมันว่า “Teach Back” ครับ

If you want to master something, teach it.”
— Yogi Bhajan

สมมติว่าเราเป็นผู้เรียนที่เพิ่งเรียนเรื่องการทำซูชิ แล้วครูก็บอกว่า “เอาละ เดี๋ยวให้แต่ละคนเตรียมตัว แล้วออกมาสอนเพื่อนทำซูชิในแบบของตัวเอง” ผมเชื่อว่าวินาทีนั้น สมองของเราจะได้ทำงานหนักแน่นอน ผู้เรียนอาจจะต้อง

  1. ทบทวนลำดับขั้นตอนทั้งหมดอย่างรวดเร็ว 🔥
  2. จัดลำดับความสำคัญว่าอะไรควรพูดก่อน-หลัง 😳
  3. คิดหาคำอธิบายที่เข้าใจง่าย 🤔
  4. เตรียมตัวตอบคำถาม หรือข้อแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น 🧐

ลองนึกดูว่าผู้เรียนของเราได้คิดขนาดนี้ โอกาสที่เค้าจะจำได้จะมีสูงขึ้นมากๆ

ในรูปนี้ เป็น Workshop TBR ที่พึ่งผ่านไปครับ หลังจากที่เราสอนวิธีการสอนแล้ว เราให้ผู้เรียนลองนึกหัวเรื่องที่อยากสอนขึ้นมา แล้วลองออกแบบการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่เลย จากนั้นก็ได้ลองสอนจริงด้วย

แล้วในถานะผู้สอนเราสามารถทำอะไรเพื่อให้เกิดการ Teach back ได้บ้าง

  1. ลองแบ่งเนื้อหาเป็นส่วนเล็กๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้แต่ละทีมได้ลองรับผิดชอบสอนดู
  2. ให้มีเนื้อหาบางส่วนที่ยังไม่ได้สอน เช่นถ้าเราสอนเรื่อง Algorithm เบื้องต้น เราอาจจะเหลือส่วน Sorting Algorithm ไว้ให้นักเรียนสอนกันเอง
  3. ให้นักเรียนลองอัด video การสอน อาจจะเอาลง TikTok หรือ Youtube short ก็น่าสนุกมากๆ

อย่าลืมนะครับว่า ห้องเรียนไม่ใช่เวทีแสดงของครู แต่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของนักเรียน การให้ผู้เรียนได้สอนกันเองบ้าง นอกจากจะช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้ลึกซึ้งขึ้นแล้ว ยังอาจจะช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นพบ และตั้งคำถามใหม่ๆ ในเรื่องที่เรากำลังสอนได้ด้วย

ให้เรียนเอง, ให้จดเอง, ให้สอนเอง

การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการ “ฟัง” เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการลงมือทำ การคิด และการแก้ปัญหา วิธีการทั้งสามข้อที่เราได้พูดถึง “ให้เรียนเอง” “ให้จดเอง” และ ”ให้สอนเอง” เป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยเปลี่ยนห้องเรียนจากที่ที่ผู้เรียนเป็นเพียงผู้รับฟังอย่างเดียว ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

การลดเวลา ‘ฟัง’ และเพิ่มเวลาให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทีเดียวครับ ผู้สอนจะกลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ มากกว่าเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ (เป็น Facilitator)

ถ้าเราเป็นผู้สอนที่เน้นการเล่าให้คนเรียนฟัง ผมอยากให้ลองเอาวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ในการสอนครั้งต่อไปดูนะครับ อยากให้ลองสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน แล้วลองปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทการสอนดู ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในห้องเรียนแน่ๆ ครับ

หากใครมีเทคนิคอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน หรือเคยนำวิธีการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้แล้วได้ผล ฝากเอามาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ หรือถ้ามีคำถามเพิ่มเติม ก็สามารถถามได้เลยครับ 🥰

ขอให้ทุกคนมีความสุขและสนุกกับการสอนนะครับ 😊 และอย่าลืมว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการที่ผู้เรียนได้เป็นผู้ลงมือทำ!

ถ้าสนใจเทคนิคการสอนแบบ TBR สามารถติดตามได้ที่ Page TBR Thailand นะครับ 👍

https://www.facebook.com/tbr.in.thailand

หรือถ้าสนใจสมัครเรียน TBR ก็สามารถติดต่อได้ที่ AWA นะครับ

https://www.adventureswithagile.com/course/training-from-the-back-of-the-room-class

--

--

Apirak

I am a big believer that great UX comes from all team members, not one. #UX Evangelist at ODDS #Co-founder of UX Academy #Certified Sprint Master.